กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ถ่ายคลิป-ภาพนิ่ง อย่างไร ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : pornpilast.su

กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ถ่ายคลิป-ภาพนิ่ง อย่างไร ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : pornpilast.su

ภายใต้ข้อบังคับในกฎหมาย PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ทุกองค์กรล้วนต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยน เพื่อให้การดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เว้นแม้แต่แวดวงโซเชียลมีเดีย นักสื่อสารออนไลน์ และ Youtuber ที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ก่อนกฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้

ทั้งก่อนอื่นต้องทราบว่า บุคคล มีสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองเป็นส่วนตัว ชื่อเสียง เกียรติยศตามกฎหมาย การละเมิดจึงเป็นความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมทั้งตามข้อบัญญัติในกฎหมาย PDPA ยังมีโทษทางปกครองร่วมด้วย ดังนั้น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของบุคคล แม้แต่ป้ายทะเบียนรถ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงตัวบุคคลนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จึงเป็นสิ่งที่นักสื่อสารออนไลน์หรือ Youtuber จะต้องระมัดระวังในการทำงาน เพราะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และนำไปสู่การฟ้องร้องคดีละเมิดได้ง่ายมาก

 

ถ่ายคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง อย่างไร ถึงปลอดภัยจากกฎหมาย PDPA?

ภายใต้การทำงานของนักสื่อสารออนไลน์ หรือ Youtuber ที่ส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์เชิงการค้า หรือการแบ่งปันผลกำไร ทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายคลิป ไลฟ์สด ตัดต่อภาพเพื่อลง Youtube เมื่อมียอดผู้ติดตาม หรือยอดคนดูคลิปในระดับหนึ่ง เจ้าของช่องจะได้เงินจากการแบ่งปันรายได้การโฆษณาของ Youtube และ Google

ด้วยเหตุนี้ การถ่ายภาพนิ่ง คลิปวิดีโอที่เปิดเผยใบหน้า หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ทะเบียนรถยนต์ บ้านเลขที่ สถานที่ทำงาน อีเมล ผลตรวจเลือด ฯลฯ จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เนื่องจากไม่ใช่การดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย ทั้งไม่อาจใช้ฐานประโยชน์โดยชอบตามหน้าที่ได้

การฝ่าฝืนกฎหมาย PDPA มีโทษทางอาญา คือ ปรับเงินตั้งแต่ 5 แสน – 1 ล้านบาท จำคุก 6 เดือน – 1 ปี หรืออาจโดนทั้งจำและปรับ ซึ่งยังไม่รวมความผิดทางแพ่งและโทษทางปกครอง สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เป็นแค่คำขู่ หรือกฎหมายเสือกระดาษ และด้วยเหตุนี้ Youtuber ต่างๆ ที่มีการถ่ายภาพนิ่ง –คลิปจะต้องเข้าใจกฎพื้นฐานการทำงานใหม่ ที่เราเรียงเรียงและวิเคราะห์ตามข้อมูลกฎหมาย เพื่อไม่ให้โดนโทษหรือเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง ดังนี้

กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ป้องกันการละเมิดกฎหมาย PDPA

  1. กฎความยินยอม (Consent) เป็นข้อที่ต้องให้ความสำคัญมาก การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอติดบุคคลอื่น Youtuber จะต้องดำเนินการขอความยินยอมจะโดยทางวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูลก่อน หากไม่ทำแล้วนำไปเผยแพร่ จนเกิดการฟ้องร้องจะมีความผิดทั้งทางแพ่ง ความผิดทางอาญา และโทษทางปกครองรวมเป็น 3 เด้ง!
  2. กฎการเบลอ โดยใช้วิธีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เปิดเผย ซึ่งโดยพื้นฐานทางจรรยาบรรณของนักสื่อสารที่มีคุณภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย ก็ควรจะต้องมีการปกปิดข้อมูลนั้นเสีย ไม่ให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ถ่ายติดใบหน้าก็เบลอหน้า ถ่ายติดบ้านเลขที่ ทะเบียนรถ ผลตรวจเลือด รายชื่อบุคคล บัญชีอีเมลหรือชื่อบัญชีที่ใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ ชื่อสถานที่ของเอกชนต่างๆ (นอกจากสถานที่นั้นมีการจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณา) ก็ควรจะต้องเบลอข้อมูลนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบกับเจ้าของข้อมูล
  3. กฎการแจ้ง (ให้ทราบ) การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตหรือตัดต่อลง Youtube บางครั้งการขอความยินยอมโดยวาจา หรือโดยลายลักษณ์อักษร อาจเป็นเรื่องที่ยาก เช่น สถานที่มีคนอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการทำงานของ Youtuber จะต้องมีป้ายแจ้งเตือน โดยในที่นี้เราขอใช้ชื่อว่าป้าย ‘PDPA Notice’ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้คนในบริเวณนั้นทราบว่า ขณะนี้ได้มีการถ่ายภาพหรือวิดีโอ รวมถึงบอกวัตถุประสงค์ และแจ้งสิทธิในการขอให้ลบ แก้ไข หรือไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้คนอยู่ในสถานที่ดังกล่าวได้เห็น หรือได้ทราบ และสามารถปกป้องสิทธิของท่านได้  
  4. กฎการปรับเปลี่ยน ทางเจ้าของช่อง Youtube จะต้องดำเนินการแก้ไข หรือลบภาพ วิดีโอ ของบุคคลคนที่ร้องขอให้ดำเนินการได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะยังไม่เผยแพร่ หรือเผยแพร่ไปแล้วก็ตาม รวมทั้งในคลิปอาจจะต้องบอกถึงสิทธิแก่เจ้าของข้อมูลอีกครั้ง เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูล หากต้องการแก้ไขหรือให้ลบภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้ ดังนั้นทางเจ้าชองช่อง Youtube จะต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นไปตามที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลร้องขอ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย หรือเป็นประโยชน์โดยชอบธรรมของเจ้าของช่อง
  5. กฎการเก็บ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไฟล์ข้อมูลดิบไว้เป็นจำนวนมากไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่เพียงเป็นต้นทุนที่เจ้าของช่อง Youtube จะต้องมีมาตรการ และเครื่องมือในการเก็บรักษาให้ปลอดภัยอย่างเหมาะสม ทั้งอาจจะเกิดการรั่วไหล และละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่าย ดังนั้น ภาพ และวิดีโอที่เป็นข้อมูลดิบที่ถ่ายไว้ และคาดว่าจะไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อีก ควรหาวิธีทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น การใช้กฎเบลอภาพเพื่อทำข้อมูลให้เป็นนิรนาม หรือใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลบางประการที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล เป็นต้น
  6. กฎพิเศษที่ Youtuber ควรรู้ ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว หรือ Sensitive Data เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความเชื่อด้านศาสนา ความเห็นทางการเมือง พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ (ม่านตา, ลายนิ้วมือ) ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทั้งทางร่ายการและจิตใจ รวมถึง ข้อมูลผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ข้อมูลบุคคลไร้ความสามารถ และบุคคลเสมือนไร้ความสามารถที่จะต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย และจะต้องให้ความระมัดระวังในการเก็บและเผยแพร่เป็นพิเศษ
  7. กฎอันชอบธรรม หลายคนอาจสงสัยว่า Youtuber มีสถานะเป็น นักข่าว หรือนักสื่อสารมวลชนที่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยชอบตามกฎหมาย หรือโดยหน้าที่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้มีคำว่า ถ้า อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถ้าการถ่ายคลิปนั้นลงช่อง Youtube นั้นเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม หรือประโยชน์โดยชอบธรรมจากฐานสัญญา ถ้า’การถ่ายคลิป หรือไลฟ์สดนั้นๆ ไม่ได้ทำเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์หรือแบ่งปันรายได้ ถ้าการถ่ายคลิปหรือไลฟ์สดนั้นเป็นไปตามหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น นักข่าวเปิดเผยภาพคลิปข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน หรืออาจจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้า การถ่ายคลิป ไลฟ์สดลง Youtube หรือเปิดเผยในอินเทอร์เน็ต เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นการทำตามหน้าที่ที่กฎหมายคุ้มครอง หรือเป็นไปตามสัญญาจ้าง ก็ (อาจจะ) ทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะดูที่ เจตนา และการตีความตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นแล้ว
 
 

อย่างไรก็ตาม กฎทั้ง 7 ข้อที่ระบุมานี้ อาจจะเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่นักสื่อสารออนไลน์ หรือ Youtuber ได้ทราบและปรับเปลี่ยนในการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย และเป็นการทำงานอย่างมืออาชีพ ที่ไม่ใช่เพียงประโยชน์เชิงรายได้หรือชื่อเสียง แต่ต้องใส่ใจสังคมส่วนรวม ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน และรู้กฎการเป็นนักสื่อสารที่มีคุณภาพอีกด้วย  

Share :