ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๕

อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 16 (๔) ประกอบ มาตรา 37 (๔) แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒
คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศฉบับนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๕”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในประกาศนี้ “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า
การละเมิดมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ที่ทำให้เกิดการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข
หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจาก อำนาจหรือโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเกิดจากเจตนา ความจงใจ ความประมาทเลินเล่อ
การกระทำโดย ปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์
ข้อผิดพลาดบกพร่องหรืออุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อ ๔ เหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่
สำนักงานหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย
เหตุที่เกิดจากการละเมิดมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ที่ทำให้เกิดการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข
หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเกิดจาก เจตนา ความจงใจ ความประมาทเลินเล่อ
การกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ การกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์
ข้อผิดพลาดบกพร่องหรืออุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเอง
ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุม
ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง ตัวแทน
หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ควบคุม ข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว
หรือบุคคลอื่น หรือเหตุปัจจัยอื่น โดยเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละเหตุอาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดประเภทใดประเภทหนึ่ง
หรือหลายประเภท ดังต่อไปนี้

(๑) การละเมิดความลับของข้อมูลส่วนบุคคล (Confidentiality Breach) ซึ่งมีการเข้าถึง
หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ หรือเกิดจากข้อผิดพลาดบกพร่อง หรืออุบัติเหตุ

(๒) การละเมิดความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลส่วนบุคคล (Integrity Breach) ซึ่งมีการ
เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ครบถ้วน โดยปราศจากอำนาจ
หรือโดยมิชอบ หรือเกิดจากข้อผิดพลาดบกพร่องหรืออุบัติเหตุ

(๓) การละเมิดความพร้อมใช้งานของข้อมูลส่วนบุคคล (Availability Breach) ซึ่งทำให้
ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ หรือมีการทำลายข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ใน
สภาพที่พร้อมใช้งานได้ตามปกติ

ข้อ ๕ เมื่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้รับแจ้งข้อมูลในเบื้องต้นจากผู้ใด ไม่ว่าโดยทางวาจา
เป็นหนังสือ หรือวิธีการอื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทราบเอง ว่ามีหรือน่าจะมี
เหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าว และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิด
ข้อมูลส่วนบุคคลในเบื้องต้นโดยไม่ชักช้าเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิด
ข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ โดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลพึงดำเนินการตรวจสอบมาตรการรักษา
ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งมาตรการเชิงองค์กร (organizational measures) และ
มาตรการเชิงเทคนิค (technical measures) ซึ่งอาจรวมถึงมาตรการทางกายภาพ (physical measures)
ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
นั้นเอง ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง
ตัวแทน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว
เพื่อให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถยืนยันได้ว่ามีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้
ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องพิจารณารายละเอียดจากข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเมินความเสี่ยง
ที่การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

(๒) หากระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลตาม (๑) พบว่า
มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการ
ด้วยตนเองหรือสั่งการให้ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกัน ระงับ หรือแก้ไข
เพื่อให้การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลสิ้นสุดหรือไม่ให้การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลส่งผลกระทบเพิ่มเติม
โดยทันทีเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ อาจใช้มาตรการทางบุคลากร กระบวนการ หรือเทคโนโลยี ที่จำเป็นและเหมาะสม

(๓) เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตาม (๑) แล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการละเมิดข้อมูล
ส่วนบุคคลจริง ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลแจ้งเหตุการณ์ละเมิดแก่สำนักงานโดยไม่ชักช้าภายใน
เจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เว้นแต่การละเมิดดังกล่าวไม่มีความเสี่ยง
ที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

(๔) ในกรณีที่การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิ
และเสรีภาพของบุคคล ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลแจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ
พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้าด้วย

(๕) ดำเนินการตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อระงับ ตอบสนอง แก้ไข หรือฟื้นฟู
สภาพจากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว รวมทั้งป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดเหตุ
การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะเดียวกันในอนาคต ซึ่งรวมถึงการทบทวนมาตรการรักษาความมั่นคง
ปลอดภัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงระดับ
ความเสี่ยงตามปัจจัยทางเทคโนโลยี บริบท สภาพแวดล้อม มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับสำหรับหน่วยงานหรือ
กิจการในประเภทหรือลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ลักษณะและวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม
ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ทรัพยากรที่ต้องใช้ และความเป็นไปได้ในการดำเนินการประกอบกัน

ข้อ ๖ ในการแจ้งเหตุ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่สำนักงาน ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
ต้องดำเนินการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแจ้งผ่านโดยวิธีการ
ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด โดยในการแจ้งเหตุการณ์ละเมิดข้อมูล
ส่วนบุคคลต้องระบุสาระสำคัญดังต่อไปนี้เท่าที่จะสามารถกระทำได้

(๑) ข้อมูลโดยสังเขปเท่าที่จะสามารถระบุได้เกี่ยวกับลักษณะและประเภทของการละเมิด
ข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาจบรรยายถึงลักษณะและจำนวนเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือลักษณะและ
จำนวนรายการ (records) ของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด

(๒) ชื่อ สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในกรณี
ที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อ สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อของบุคคลที่ผู้ควบคุม
ข้อมูลส่วนบุคคลมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานและให้ข้อมูลเพิ่มเติม

(๓) ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

(๔) ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือจะใช้เพื่อป้องกัน ระงับ หรือ
แก้ไขเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือเยียวยาความเสียหาย โดยอาจใช้มาตรการทางบุคลากร
กระบวนการ หรือเทคโนโลยี หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นและเหมาะสม

ข้อ ๗ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้แจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้ากว่าเจ็ดสิบสอง
ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น การดำเนินการป้องกัน ระงับ
หรือแก้ไขเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ผู้ควบคุม
ข้อมูลส่วนบุคคลอาจขอให้สำนักงานพิจารณายกเว้นความผิดจากการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ล่าช้าได้ โดยให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดง
ให้เห็นว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ทำให้แจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลล่าช้า โดยจะต้อง
แจ้งแก่สำนักงานโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบห้าวันนับแต่ทราบเหตุ

สำนักงานอาจแจ้งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลชี้แจงเหตุผลหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติมภายหลังได้
และหากสำนักงานพิจารณาแล้วเห็นควรให้ยกเว้นความผิดจากการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ล่าช้า เนื่องจากมีเหตุจำเป็น ให้ถือว่าผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้รับยกเว้นการดำเนินการแจ้งเหตุ
การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่สำนักงานตามกำหนดเวลาใน มาตรา 37 (๔)
การแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่สำนักงานไม่เป็นเหตุยกเว้นหน้าที่หรือความรับผิด
ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นหรือกฎหมายอื่น

ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีข้อตกลงกับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
เพื่อควบคุมการดำเนินงานตามหน้าที่ของผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือมอบหมายหรือสั่งการให้ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการเก็บ
รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของตนเอง ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
จะต้องระบุไว้ในข้อตกลงหรือในสัญญาที่เกี่ยวข้องให้ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุ
การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชักช้าภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่
ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทราบเหตุเท่าที่จะสามารถกระทำได้เช่นกัน

ข้อ ๙ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอาจยกข้อยกเว้นการแจ้งเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
แก่สำนักงานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลพิสูจน์ได้ว่าเหตุการณ์ละเมิดข้อมูล
ส่วนบุคคลนั้น ไม่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งรวมถึงกรณีที่ข้อมูล
ส่วนบุคคลตามเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของ
ข้อมูลส่วนบุคคลได้ หรือข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เนื่องจากมีมาตรการทางเทคโนโลยี
ที่เพียงพอ หรือเหตุอื่นใดที่เชื่อถือได้ ในการยกข้อยกเว้นดังกล่าว ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ให้ข้อมูลหรือส่งเอกสารหรือ
หลักฐานเกี่ยวกับเหตุที่ควรได้รับการยกเว้น ซึ่งรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรักษาความมั่นคง
ปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลอื่นใด ให้สำนักงานพิจารณา

ข้อ ๑๐ เมื่อมีเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้แจ้งเหตุ
การละเมิดแก่สำนักงานแล้วหรืออยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อแจ้งสำนักงาน หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบ
ต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลพร้อม
สาระสำคัญดังต่อไปนี้ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบทราบเท่าที่จะสามารถกระทำได้ โดยไม่ชักช้า

(๑) ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับลักษณะของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

(๒) ชื่อ สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือบุคคล
ที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงาน

(๓) ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

(๔) แนวทางการเยียวยาความเสียหายของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลโดยสังเขป
เกี่ยวกับมาตรการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือจะใช้เพื่อป้องกัน ระงับ หรือแก้ไขเหตุการละเมิด
ข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาจใช้มาตรการทางบุคลากร กระบวนการ หรือเทคโนโลยี หรือมาตรการอื่นใด
ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอาจดำเนินการ
เพิ่มเติมเพื่อป้องกัน ระงับ หรือแก้ไขเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือเยียวยาความเสียหาย

ข้อ ๑๑ ในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับ
ผลกระทบทราบ หากโดยสภาพไม่สามารถดำเนินการแจ้งเป็นรายบุคคลเป็นหนังสือหรือโดยวิธีการ
ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เนื่องจากไม่มีวิธีการติดต่อ หรือโดยเหตุจำเป็นอื่นใด ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอาจแจ้ง
เหตุการละเมิดแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกลุ่ม หรือแจ้งเป็นการทั่วไปผ่านสื่อสาธารณะ สื่อสังคม
ออนไลน์ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบ
หรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการแจ้งดังกล่าวได้ การแจ้งเหตุการละเมิดแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกลุ่ม
หรือแจ้งเป็นการทั่วไป จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อ ๑๒ ในการประเมินความเสี่ยงสำหรับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ว่ามีความเสี่ยงที่จะมี
ผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงใด ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอาจพิจารณาจากปัจจัย
ดังต่อไปนี้

(๑) ลักษณะและประเภทของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

(๒) ลักษณะหรือประเภทของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด

(๓) ปริมาณของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด ซึ่งอาจพิจารณาจากจำนวนเจ้าของ
ข้อมูลส่วนบุคคลหรือจำนวนรายการ (records) ของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด

(๔) ลักษณะ ประเภท หรือสถานะของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบ รวมถึง
ข้อเท็จจริงว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยผู้เยาว์ ผู้พิการ ผู้ไร้ความสามารถ
ผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลเปราะบาง (vulnerable persons) ที่ขาดความสามารถในการ
ปกป้องสิทธิและประโยชน์ของตนเนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ เพียงใด

(๕) ความร้ายแรงของผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับเจ้าของข้อมูล
ส่วนบุคคลจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และประสิทธิผลของมาตรการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้
หรือจะใช้เพื่อป้องกัน ระงับ หรือแก้ไขเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือเยียวยาความเสียหาย
ต่อการบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

(๖) ผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจหรือการดำเนินการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือ
ต่อสาธารณะจากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

(๗) ลักษณะของระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด และมาตรการ
รักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งที่เป็นมาตรการเชิงองค์กร (organizational measures) และมาตรการเชิงเทคนิค
(technical measures) รวมถึงมาตรการทางกายภาพ (physical measures)

(๘) สถานะทางกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
รวมทั้งขนาดและลักษณะของกิจการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อ ๑๓ ให้ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖5

เธียรชัย ณ นคร

ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เอกสารเพิ่มเติม PDF ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๕