กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ถ่ายคลิป-ภาพนิ่ง อย่างไร ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : PDPA Thailand

กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ถ่ายคลิป-ภาพนิ่ง อย่างไร ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : PDPA Thailand

ภายใต้ข้อบังคับในกฎหมาย PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ทุกองค์กรล้วนต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยน เพื่อให้การดำเนินการเก็บ ประมวลผล หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เว้นแม้แต่แวดวงโซเชียลมีเดีย นักสื่อสารออนไลน์ และ Youtuber ที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพราะปัจจุบันนี้ กฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้แล้ว !

ทั้งก่อนอื่นต้องทราบว่า บุคคล มีสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองเป็นส่วนตัว ชื่อเสียง เกียรติยศตามกฎหมาย การละเมิดจึงเป็นความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมทั้งตามข้อบัญญัติในกฎหมาย PDPA ยังมีโทษทางปกครองร่วมด้วย ดังนั้น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของบุคคล แม้แต่ป้ายทะเบียนรถ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงตัวบุคคลนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จึงเป็นสิ่งที่นักสื่อสารออนไลน์หรือ Youtuber จะต้องระมัดระวังในการทำงาน เพราะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และนำไปสู่การฟ้องร้องคดีละเมิดได้ง่ายมาก

 

ถ่ายคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง อย่างไร ถึงปลอดภัยจากกฎหมาย PDPA ?

ภายใต้การทำงานของนักสื่อสารออนไลน์ หรือ Youtube ที่ส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์เชิงการค้า หรือการแบ่งปันผลกำไร ทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายคลิป ไลฟ์สด ตัดต่อภาพ-คลิปลง Youtube เมื่อมียอดผู้ติดตาม หรือยอดคนดูคลิปในระดับหนึ่ง จะได้เงินจากการแบ่งปันรายได้การโฆษณาของ Youtube และ Google

ด้วยเหตุนี้ การถ่ายภาพนิ่ง คลิปวิดีโอที่เปิดเผยใบหน้า หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ทะเบียนรถยนต์ บ้านเลขที่ สถานที่ทำงาน อีเมล ผลตรวจเลือด ฯลฯ จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เนื่องจากไม่ใช่การดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย ทั้งไม่อาจใช้ฐานประโยชน์โดยชอบตามหน้าที่ได้

การฝ่าฝืนกฎหมาย PDPA มีโทษทางอาญา คือ ปรับเงินตั้งแต่ 5 แสน – 1 ล้านบาท จำคุก 6 เดือน – 1 ปี หรืออาจโดนทั้งจำและปรับ ซึ่งยังไม่รวมความผิดทางแพ่งและโทษทางปกครอง สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เป็นแค่คำขู่ หรือกฎหมายเสือกระดาษ และด้วยเหตุนี้ Youtuber ต่างๆ ที่มีการถ่ายภาพนิ่ง –คลิปจะต้องเข้าใจกฎพื้นฐานการทำงานใหม่ ที่เราเรียงเรียงและวิเคราะห์ตามข้อมูลกฎหมาย เพื่อไม่ให้โดนโทษหรือเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง ดังนี้

 

 

กฎ 7 ข้อที่ Youtuber ต้องรู้! ป้องกันการละเมิดกฎหมาย PDPA

1. กฎความยินยอม (Consent) เป็นข้อแรกที่ต้องให้ความสำคัญมาก การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอติดบุคคลอื่น Youtuber จะต้องดำเนินการขอความยินยอมจะโดยทางวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูลก่อน หากไม่ทำแล้วนำไปเผยแพร่ จนเกิดการฟ้องร้องจะมีความผิดทั้งทางแพ่ง ความผิดทางอาญา และโทษทางปกครองรวมเป็น 3 เด้ง!

2. กฎการเบลอ โดยใช้วิธีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เปิดเผย ซึ่งโดยพื้นฐานทางจรรยาบรรณของนักสื่อสารที่มีคุณภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย ก็ควรจะต้องมีการปกปิดข้อมูลนั้นเสีย ไม่ให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ถ่ายติดใบหน้าก็เบลอหน้า ถ่ายติดบ้านเลขที่ ทะเบียนรถ ผลตรวจเลือด รายชื่อบุคคล บัญชีอีเมลหรือชื่อบัญชีที่ใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ ชื่อสถานที่ของเอกชนต่าง ๆ (นอกจากสถานที่นั้นมีการจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณา) ก็ควรจะต้องเบลอข้อมูลนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบกับเจ้าของข้อมูล

3. กฎการแจ้ง (ให้ทราบ) การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตหรือตัดต่อลง Youtube บางครั้งการขอความยินยอมโดยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษร อาจเป็นเรื่องที่ยาก เช่น สถานที่มีคนอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการทำงานของ Youtuber จะต้องมีป้ายแจ้งเตือน โดยในที่นี้เราขอใช้ชื่อว่าป้าย ‘PDPA Notice’ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้คนในบริเวณนั้นทราบว่า ขณะนี้ได้มีการถ่ายภาพหรือวิดีโอ รวมถึงบอกวัตถุประสงค์ และแจ้งสิทธิในการขอให้ลบ แก้ไข หรือไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้คนอยู่ในสถานที่ดังกล่าวได้เห็น หรือได้ทราบ และสามารถปกป้องสิทธิของท่านได้

4. กฎการปรับเปลี่ยน ทางเจ้าของช่อง Youtube จะต้องดำเนินการแก้ไข หรือลบภาพ วิดีโอ ของบุคคลคนที่ร้องขอให้ดำเนินการได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะยังไม่เผยแพร่ หรือเผยแพร่ไปแล้วก็ตาม รวมทั้งในคลิปอาจจะต้องบอกถึงสิทธิแก่เจ้าของข้อมูลอีกครั้ง เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูล หากต้องการแก้ไขหรือให้ลบภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้ ดังนั้นทางเจ้าชองช่อง Youtube จะต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นไปตามที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลร้องขอ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย หรือเป็นประโยชน์โดยชอบธรรมของเจ้าของช่อง

5. กฎการเก็บ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไฟล์ข้อมูลดิบไว้เป็นจำนวนมากไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่เพียงเป็นต้นทุนที่เจ้าของช่อง Youtube จะต้องมีมาตรการ และเครื่องมือในการเก็บรักษาให้ปลอดภัยอย่างเหมาะสม ทั้งอาจจะเกิดการรั่วไหลและละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่าย ดังนั้น ภาพและวิดีโอที่เป็นข้อมูลดิบที่ถ่ายไว้ และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อีก ควรหาวิธีทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น การใช้กฎเบลอภาพเพื่อทำข้อมูลให้เป็นนิรนาม หรือใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลบางประการที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล เป็นต้น

6. กฎพิเศษ Youtuber ควรรู้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว Sensitive Data) เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความเชื่อด้านศาสนา ความเห็นทางการเมือง พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ (ใบหน้า, ลายนิ้วมือ) ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทั้งทางร่ายการและจิตใจ รวมถึง ข้อมูลผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ข้อมูลบุคคลไร้ความสามารถ และบุคคลเสมือนไร้ความสามารถที่จะต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย และจะต้องให้ความระมัดระวังในการเก็บและเผยแพร่เป็นพิเศษ

7. กฎอันชอบธรรม หลายคนอาจสงสัยว่า Youtuber มีสถานะเป็น ‘นักข่าว’ หรือนักสื่อสารมวลชนที่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยชอบตามกฎหมาย หรือโดยหน้าที่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้มีคำว่า ‘ถ้า’ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถ้า การถ่ายคลิปนั้นลงช่อง Youtube นั้นเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม หรือประโยชน์โดยชอบธรรมจากฐานสัญญา ถ้า การถ่ายคลิป หรือไลฟ์สดนั้น ๆ ไม่ได้ทำเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์หรือแบ่งปันรายได้ ถ้า การถ่ายคลิปหรือไลฟ์สดนั้นเป็นไปตามหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น นักข่าวเปิดเผยภาพคลิปข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชัน

หรืออาจจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้า การถ่ายคลิป ไลฟ์สดลง Youtube หรือเปิดเผยในอินเทอร์เน็ต เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นการทำตามหน้าที่ที่กฎหมายคุ้มครอง หรือเป็นไปตามสัญญาจ้าง ก็ (อาจจะ) ทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะดูที่ ‘เจตนา’ และการตีความตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม กฎทั้ง 7 ข้อที่ระบุมานี้ อาจจะเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่นักสื่อสารออนไลน์ หรือ Youtuber ได้ทราบและปรับเปลี่ยนในการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย และเป็นการทำงานอย่างมืออาชีพ ที่ไม่ใช่เพียงประโยชน์เชิงรายได้หรือชื่อเสียง แต่ต้องใส่ใจสังคมส่วนรวม ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน และรู้กฎการเป็นนักสื่อสารที่มีคุณภาพอีกด้วย

Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง

กลัดกระดุมเม็ดแรกของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยแนวคิด Privacy by Design