คลายสงสัยเรื่องหน้าที่ 2 คณะกรรมการฯ ตามอำนาจกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : pornpilast.su

คลายสงสัยเรื่องหน้าที่ 2 คณะกรรมการฯ ตามอำนาจกฎหมาย PDPA

แชร์

อ่าน

ครั้ง

โดย : pornpilast.su

เนื่องจากได้มีการประกาศเผยแพร่มติคณะรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการที่มีประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบ 10 ท่านถ้วนตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยในการมีองค์กรที่จะบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฏหมาย PDPA ตามโครงสร้างการบังคับใช้ของกฏหมาย โดยหากไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ กฎหมาย PDPA ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง 

ซึ่งต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีอำนาจ และหน้าที่ที่ถูกระบุไว้ตามกฎหมาย PDPA หลายประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างราบรื่นของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลฯ เช่น การกำหนดนโยบายการบริหารงานและอนุมัติเห็นชอบแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ออกข้อบังคับด้านการจัดการองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล สวัสดิการของสำนักงาน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ให้แก่สังคมในวงกว้าง 

หลายท่านอาจมีความสับสนว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการ ‘กำกับสำนักงาน’คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างกันอย่างไร PDPA Thailand สรุปมาให้ผู้อ่านทุกท่านแล้ว ไปดูกันครับ 

ตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองฯ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

  • จัดทำการดำเนินงานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับนโยบาย 
  • ส่งเสริม และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมตามแผน
  • กำหนดมาตรการ หรือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ
  • ออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ
  • ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่ง หรือโอนไปยังต่างประเทศ
  • ประกาศกำหนดข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลปฏิบัติตาม
  • เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ปรับปรุงกฎหมาย หรือเพิ่มกฎที่ใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความเหมาะสมกับประเทศ
  • ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ เพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ
  • ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตามมาตรา 54 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนดให้คณะกรรมการกำกับฯ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

  • กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความสนับสนุนแผนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดการองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป การตรวจสอบภายใน รวมตลอดทั้งการดูแลสวัสดิการต่างๆ ของสำนักงานฯ
  • ดูแลแผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงานฯ
  • ควบคุมการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงานฯ และเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ 
  • การจัดการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการฯ
  • ประเมินผลการดำเนินการของสำนักงานฯ และการปฏิบัติงานของเลขาธิการฯ
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัติฯ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับฯ หรือตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

>>> สรุปง่ายๆ ก็คือ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะเป็นผู้กำหนด กำกับดูแลภาพรวมของกฏหมาย เสนอเพิ่ม รวมถึงแก้ไขกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  และทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย แต่คณะกรรมการ ‘กำกับสำนักงาน’คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เป็นผู้ดำเนินงานในส่วนการจัดการเฉพาะด้าน ‘สำนักงาน’ รวมถึงการออกข้อบังคับด้านการจัดการองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล สวัสดิการของสำนักงาน ฯลฯ  โดยคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมการทำงานของคณะกรรมการเพื่อให้มีความเสถียรภาพของการดำเนินงาน

PDPA Thailand เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความเชี่ยวชาญ และคุณวุฒิของกรรมการทั้งสองชุด หากมีการทำงานประสานร่วมกัน คาดว่าทำให้กฏหมาย PDPA จะได้รับการดำเนินการได้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สู่การผลักดันให้ PDPA ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้คณะกรรมการตามกฎหมาย PDPA ไม่ได้มีแค่สองคณะนี้ แต่ยังมีด้วยกันถึง 3 ชุด นั่นก็คือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ที่เราจะมาบอกเล่ากันในโอกาสถัดไป

Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง

ม.อัสสัมชัญ จับมือ ดีบีซี กรุ๊ป ส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล วงการการศึกษาและภาคเอกชน